จะวางแผนการเงินทั้งทีต้องดูให้รอบด้าน

จะวางแผนการเงินทั้งทีต้องดูให้รอบด้าน

ตามหลักวิชาการวางแผนการเงินที่เป็นสากลและทั่วโลกให้การยอมรับนั้น แผนทางการเงินที่ดีนอกจากจะมีเรื่องแผนของการเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินที่มีอยู่ ด้วยวิธีการนำไปลงทุนอย่างเหมาะสมแล้ว ยังจะต้องมีแผนของการปกป้องรักษา หรือคุ้มครองทรัพย์สินที่สร้างมาอย่างครอบคลุมอีกด้วย

หลายคนอาจจะให้แต่ความสำคัญของการเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินด้วยวิธีการต่างๆ มากมายทั้งแบบที่เรียบง่ายอย่างการฝากเงินกินดอกเบี้ย ไปจนถึงระดับที่มีความยุ่งยากอย่างการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ การเปิดธุรกิจ การซื้อขายหุ้น หรือการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงสูง 

ในขณะที่เราอาจจะลืมไปว่าการดำเนินชีวิตในปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยความเสี่ยงภัยด้านอื่นๆอีกมากมาย ทั้งเรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วย อุบัติเหตุ เหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของแผนการ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งในเรื่องของสภาพทางจิตใจ และสภาพร่างกายในบางกรณี รวมถึงส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุน และแผนการเงินในภาพรวมของเรา อันจะทำให้มูลค่าทรัพย์สินลดลง

การวางแผนป้องกันความเสี่ยงด้วยการประกันภัยจึงมีความสำคัญ ยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าการทำประกันจะไม่สามารถทดแทนความสูญเสียทางด้านร่างกายและจิตใจได้ แต่ก็สามารถเยียวยาหรือชดเชยความเสียหายต่อทรัพย์สินได้ อาจจะได้ทั้งหมดหรือบางส่วนก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบและวางแผนการประกันมาอย่างดีและเหมาะสมนั่นเอง

สถานการณ์ของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มูลค่าของความเสียหายในอดีตจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามสภาพเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป เช่น ค่ารักษาพยาบาล เมื่อ 5-10 ปีที่แล้วนั้น มีมูลค่าสูงขึ้นในวันนี้ และมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีกใน 5-10 ปีข้างหน้า การให้ความสำคัญในการวางแผนประกันและทบทวนความคุ้มครองจากแผนประกันที่มีอยู่จึงเป็นสิ่งจำเป็น และอาจจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมด้วยเช่นกัน

อัตราส่วนความอยู่รอดและอัตราส่วนความมั่งคั่ง คุณผ่านเกณฑ์ 2 ข้อนี้มั๊ย?

อัตราส่วนความอยู่รอดและอัตราส่วนความมั่งคั่ง คุณผ่านเกณฑ์ 2 ข้อนี้มั๊ย?

อยากจะชวนให้เราลองเอาข้อมูลของรายรับ-รายจ่ายที่ได้บันทึกไว้มาใช้ประโยชน์กัน สำหรับคนที่มีการบันทึกรายรับรายจ่ายมาเป็นประจำ ข้อมูลที่ได้ก็จะมีความเป็นจริงมากที่สุด แต่ถ้าเราไม่ได้จดไว้หรือมีข้อมูลที่ไม่มากพอ ก็อาจจะใช้วิธีประมาณการตัวเลขของรายรับและรายจ่ายของเราในช่วงที่ผ่านมาก็ได้ เพื่อพอให้เห็นภาพทางการเงินของเราโดยผ่านสิ่งที่เรียกว่า อัตราส่วนทางการเงิน

อัตราส่วนแรกเรียกว่า อัตราส่วนความอยู่รอด (Survival Ratio) โดยหาได้จาก

โดยที่

  • รายได้จากการทำงาน ได้แก่ เงินเดือน ค่าจ้าง หรือกำไรจากการทำมาค้าขาย เป็นต้น
  • รายได้จากทรัพย์สิน ได้แก่ ค่าเช่า ดอกเบี้ยรับ เงินปันผลจากหุ้น, กองทุนหรือประกัน เป็นต้น

อัตราส่วนความอยู่รอดนี้ ยิ่งมากก็ยิ่งดี โดยปกติ ควรมากกว่า 1 นั่นคือคุณสามารถดำรงชีพได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น ถ้าของใครน้อยกว่า 1 นั่นแสดงว่าสถานะทางการเงินของคุณแย่แล้ว ต้องรีบแก้ไขด่วน!!!

สำหรับคนที่ผ่านอัตราส่วนข้อแรกมาได้ ก็อยากชวนมาหาอัตราส่วนตัวที่ 2 กัน ตัวนี้เรียกว่า อัตราส่วนความมั่งคั่ง (Wealth Ratio) อัตราส่วนนี้จะเป็นตัวบอกว่าคุณภาพชีวิตและรากฐานทางการเงินของคุณแข็งแกร่งมากแค่ไหน โดยหาได้จาก

และเช่นเดียวกับอัตราส่วนแรก ถ้าตัวเลขที่คำนวณออกมามีค่ามากกว่า 1 (ยิ่งมากยิ่งดี) นั่นแสดงว่าคุณสามารถดำรงชีพได้ แม้จะไม่ต้องทำงานเลย อย่างไรก็ตามคุณก็เลือกที่จะทำงานได้โดยรายได้จะไม่เป็นปัจจัยหลัก แต่คุณจะทำงานด้วยความสุข ทำในสิ่งที่ชอบโดยไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายเลย แต่ถ้าต่ำกว่า 1 แสดงว่าคุณยังคงต้องเพิ่งพารายได้จากการทำงานอยู่ และถ้าคุณหยุดงานไม่ว่าจะสาเหตุอะไรก็ตาม คุณจะเริ่มมีความกังวลและความไม่สบายใจในการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากไม่มั่นใจว่าจะมีเงินเพียงพอให้ใช้จ่ายไปได้อีกนานเท่าไหร่

สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าจะตั้งเป้าหมายอะไรในชีวิต อาจจะมาตั้งเป้าหมายที่จะสร้างอัตราส่วนส่วนความมั่งคั่งให้มากกว่า 1 ก็น่าจะเป็นเป้าหมายที่ดีทีเดียว และที่สำคัญคือ ยิ่งอัตราส่วนความมั่งคั่งมีค่ามากกว่า 1 ได้เร็วเท่าไหร่ เราก็จะเกษียณได้เร็วเท่านั้น

เริ่มต้นวางแผนการเงิน

เริ่มต้นวางแผนการเงิน

เงิน นับเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญกับการดำรงชีพของคนในปัจจุบัน ถึงแม้เงินจะไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต แต่การมีเงินให้ใช้จ่ายอย่างพอเพียงและเหมาะสมก็เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างมีความสุข และสะดวกสบายขึ้น

การบริหารจัดการด้านการเงินเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญทักษะหนึ่ง เพราะตลอดช่วงชีวิตของคนเรา จะมีช่วงต้นของชีวิตที่ต้องพึ่งพาบุคคลอื่นในการเลี้ยงดู จนกว่าเราจะเติบโตจนสามารถหาเลี้ยงชีพได้ มีช่วงเวลาที่เรามีความสามารถหาเงินมาใช้จ่ายได้ด้วยตนเองและมากพอที่จะเลี้ยงดูหรือแบ่งปันให้บุคคลอื่น จนถึงช่วงท้ายของชีวิตในวัยชราที่เราไม่สามารถทำงานหารายได้มาเพื่อใช้จ่ายได้ 

ดังนั้นการวางแผนทางการเงินจะช่วยให้เราสามารถจัดสรรทรัพยากรหรือเงิน ให้เพียงพอที่จะใช้ไปตลอดทุกช่วงของชีวิตอย่างเหมาะสม การวางแผนการเงินยังเปรียบเสมือนการวางแผนชีวิต โดยการวางแผนการเงินที่ดีจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้

กระบวนการวางแผนการเงินประกอบไปด้วย ขั้นตอนสำคัญ 6 ขั้นตอน

  1. ตรวจสอบสถานะทางการเงินในปัจจุบัน การสำรวจสถานะตัวเองเปรียบเสมือนการหาจุดเริ่มต้น ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญเพราะจะเป็นตัวกำหนดว่า ณ ปัจจุบันเราอยู่ที่ตรงไหน จากนั้นเราจึงจะสามารถกำหนดเป้าหมายและเส้นทางที่เป็นไปได้ที่จะไปยังเป้าหมายอย่างเหมาะสม การตรวจสอบสถานะทางการเงินทำได้ง่ายๆ ด้วยการเริ่มต้นบันทึกรายรับ รายจ่ายของตัวเองในแต่ละวัน เพื่อในตอนสุดท้ายเราจะมาสรุปว่าในแต่ละเดือนเรามีกระแสเงินสด หรือการไหลเข้า ไหลออกของเงินเป็นอย่างไรบ้าง นอกจากนั้นก็เป็นการทำบันทึกรายทรัพย์สิน รวมถึงหนี้สิน ณ ปัจจุบัน โดยตีมูลค่าออกมาเป็นตัวเงิน ทั้งหมดนี้เพื่อให้รู้สถานการณ์ทางการเงินในปัจจุบันของเรานั่นเอง
  2. กำหนดเป้าหมายทางการเงินอย่างเหมาะสม เป้าหมายทางการเงินสามารถแบ่งเป็นระยะต่างๆ ได้ 3 ระยะ คือ เป้าหมายระยะสั้น (ประมาณ 1-3 ปี), เป้าหมายระยะกลาง (ประมาณ 3-7 ปี) และเป้าหมายระยะยาว (ตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป) เราสามารถกำหนดเป้าหมายได้หลายเป้าหมายแต่ก็ควรกำหนดความสำคัญของเป้าหมายไว้ด้วย และหนึ่งในเป้าหมายที่คนทุกคนต้องมีคือ วางแผนเกษียณอายุ เพราะเมื่อถึงเวลานั้น หากเราไม่มีเงินพอ การใช้ชีวิตในช่วงที่ร่างกายไม่ได้แข็งแรงเหมือนเดิม ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่คงเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก
  3. มองหาเส้นทาง หรือทางเลือกต่างๆ ที่จะนำไปสู่เป้าหมาย ในกระบวนการนี้จะต้องอาศัยการหมั่นหาความรู้ทางด้านการเงิน เพราะความรู้ทางการเงินจะเป็นตัวช่วยให้เรามองเห็นทางเลือกอื่นที่มากขึ้น เข้าใจข้อจำกัดของแต่ละทางเลือก ไม่มีทางเลือกใดที่ดีที่สุดตลอดไป ทุกทางเลือกมีข้อดี ข้อด้อยในตัวเอง บางทางเลือกเหมาะกับคนช่วงอายุหนึ่ง แต่อาจจะไม่เหมาะกับคนอีกช่วงอายุหนึ่งก็ได้
  4. ประเมินทางเลือก เมื่อเราได้ทางเลือกต่างๆ มาแล้ว ก็มาถึงกระบวนการที่สำคัญ คือการประเมินทางเลือกต่างๆ หาข้อดี ข้อด้อย เพื่อนำมาปรับและเลือกใช้ให้เหมาะกับช่วงชีวิตของเรา ในขั้นตอนนี้เราจะจัดทำเป็นแผนการออกมาเพื่อใช้เป็นตัวกำหนดวิธีการดำเนินการของแผนทางการเงิน เช่น ในแต่ละเดือน เราจะแบ่งเงินออมเท่าไหร่ แล้วจะนำไปออมไว้ในที่ใดบ้าง เช่น ฝากธนาคาร ซื้อกองทุน ซื้อหุ้น หรือทำประกัน ฯลฯ
  5. นำแผนการเงินไปปฏิบัติ เมื่อได้ทางเลือกและกำหนดแผนมาแล้ว ก็เข้าสู่การนำไปปฏิบัติจริง เพราะลำพังการเขียนแผนไว้เฉยๆ ไม่ได้ทำให้เป้าหมายกลายเป็นจริงได้ ในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาที่ยาวนานไปตามแผนที่ได้วางไว้ เรียกได้ว่าทำไปตลอดชีวิตของเราเลยก็ว่าได้ 
  6. ทบทวนและปรับปรุง แผนการเงินเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ระหว่างทางจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะแวดล้อม เช่น การย้ายงาน การแต่งงาน การมีบุตร การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ฯลฯ ทุกอย่างล้วนมีผลกระทบกับแผนการเงินที่ได้วางไว้ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขให้เหมาะสมอยู่เสมอ โดยทั่วไปหากเป็นสภาวะปกติอาจจะปีละครั้ง แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์พิเศษ ก็สามารถนำมาปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ทันที

สำหรับผู้ที่ไม่เคยวางแผนการเงินมาก่อนเลย เราสามารถเริ่มต้นได้ทันทีจากการทำรายการทรัพย์สิน และหนี้สินของเราขึ้นมา และเริ่มการจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย นันตั้งแต่นี้เป็นต้นไป

ในตอนต่อๆ ไป เราจะมาลงในรายละเอียดของแต่ละขั้นตอนกัน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายทางการเงิน อันจะนำมาซึ่งความสุขอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงชีวิตของเรา

เคยสงสัยมั้ยว่าทำไมเราไม่สามารถเก็บเงินได้สักที?

เคยสงสัยมั้ยว่าทำไมเราไม่สามารถเก็บเงินได้สักที?

การจะทำสิ่งใดก็ตาม หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญและควรมีเป็นอย่างแรกเพื่อให้สิ่งนั้นจะประสบความสำเร็จได้ ก็คือการมีเป้าหมายที่ชัดเจน เป้าหมายที่ชัดเจนจะต้องสามารถมองเห็นภาพและอธิบายออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด ยิ่งภาพของเป้าหมายชัดเจน โอกาสสำเร็จก็มีความเป็นไปได้สูง การตั้งเป้าหมายไม่เพียงแต่ตั้งเฉยๆ แต่จะต้องมีความต้องการอย่างแรงกล้า มีเหตุผลที่ดีในการไปสู่เป้าหมาย เมื่อเป้าหมายชัดเจน วิธีการก็จะตามมา

ผมเชื่อว่าในหลายๆเป้าหมาย จำเป็นจะต้องใช้เงิน จะมากน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของเป้าหมาย และด้วยความสำคัญและความต้องการในเป้าหมายนี่เองที่จะเป็นแรงผลักดันให้เราระมัดระวังการใช้จ่าย มีความตระหนักและเข้าใจว่าจะเก็บออมไปเผื่ออะไร

มานั่งคิดและกำหนดเป้าหมายให้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายเล็กหรือใหญ่ จะมีเพียงเป้าหมายเดียวหรือหลายเป้าหมาย ผมคิดว่าจะทำให้เราสามารถเก็บเงินได้ดีขึ้น

เครดิตภาพ
Designed by makyzz / Freepik